CEO Binance TH ระบุ การมีส่วนร่วมของสถาบันอาจจะเร่งให้เกิดการเปิดรับบล็อกเชนในไทยได้

คุณนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล CEO ของ Binance Thailand ได้แสดงความคิดเห็นในบทความของ Bangkok Post ว่า ข้อเสนอด้านกฎระเบียบล่าสุดของประเทศไทยจะช่วยสร้าง “ยุคใหม่แห่งการยอมรับและความถูกต้องตามกฎหมายสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล” และกล่าวด้วยว่า หน่วยงานกำกับดูแลของไทยกำลัง “เดินหน้าในทิศทางที่ถูกต้องและทันเวลา” เพื่อขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงิน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย หรือ ก.ล.ต. เพิ่งจะมีการเสนอร่างกฎระเบียบที่อนุญาตให้กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลสามารถลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี่ได้ ซึ่งคุณนิรันดร์ CEO ของ Binance Thailand เรียกข้อเสนอดังกล่าวของ ก.ล.ต. ว่าเป็น “ความเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้า” เพื่อปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์คริปโตที่กำลังพัฒนา
คุณนิรันดร์ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ขั้นตอนเชิงกลยุทธ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มระดับโลกและนำมาซึ่งโอกาสในการยอมรับที่กว้างขึ้นและความเป็นมืออาชีพในตลาดคริปโตของไทย”
ขณะนี้ข้อเสนอดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะเกี่ยวกับการแก้ไขเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมในสินทรัพย์คริปโต ซึ่งเขาเน้นย้ำว่า นี่เป็นขั้นตอนสำคัญ “ในการพัฒนาภูมิทัศน์คริปโตของไทย”
สำนักงาน ก.ล.ต. ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับนักลงทุนสถาบัน กองทุนจะได้รับอนุญาตให้ลงทุนใน Crypto ETFs ได้โดยไม่มีขีดจำกัดในการลงทุน ผลที่ตามมาคือจะมีกองทุนสถาบันเข้ามาลงทุนมากขึ้น ช่วยให้สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับการยอมรับจากกระแสหลักมากยิ่งขึ้น
การมีส่วนร่วมของสถาบันจะช่วยขยายขอบเขตการนำบล็อกเชนมาใช้
คุณนิรันดร์ยังกล่าวด้วยว่า การมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินจะช่วยขยายขอบเขตการใช้งานบล็อกเชน ในแง่ของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากนักลงทุนรายย่อยไปสู่นักลงทุนสถาบัน โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“สิ่งนี้อาจจะเป็นการปูทางให้สถาบันการเงินไทยขยายพอร์ตการลงทุนและเปิดรับสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะเดียวกัน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัลของภูมิภาค”
เขาเสริมอีกว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะสร้างสภาพคล่องที่สูงขึ้นและจุดราคาที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นในตลาดคริปโต
นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลของไทยได้เรียกร้องให้มีกฎระเบียบในอนาคตที่มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น พร้อมกับมีความเข้มงวดในการจำกัดการเข้าถึงแพลตฟอร์มคริปโตที่ไม่ได้รับอนุญาตมากยิ่งขึ้น และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีกฎระเบียบที่จะเข้ามาควบคุมธุรกรรมคริปโตแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P)






