วิธีดูกราฟคริปโตสำหรับมือใหม่: พื้นฐานและเทคนิคที่ต้องรู้

Last updated:
Author
Author
Somchai Wang
About Author

สมชายเป็นนักเขียนคอนเทนต์ที่มีประสบการณ์กว่า 10 ปี ในด้านคริปโต...

Fact Checked by
Author
Anuchit Laemsing
About Author

นักเขียนด้านคริปโตและเทคโนโลยี...

Last updated:
ทำไมจึงไว้วางใจ Cryptonews
Cryptonews ได้รายงานข่าวในวงการคริปโตเคอเรนซีมานานกว่า 10 ปี ทีมงานที่เชี่ยวชาญของเรามุ่งเน้นการวิเคราะห์ตลาด เทคโนโลยีบล็อกเชน และการรายงานอย่างถูกต้องและสมดุล ครอบคลุมคริปโต บล็อกเชน และการพัฒนาในอุตสาหกรรม เรามุ่งมั่นในการให้ความโปร่งใสกับผู้อ่าน เนื้อหาบางส่วนอาจมี Affiliate Links ซึ่งเราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่น หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มโปรดอ่านรายละเอียดในเพจ Affiliate Disclosure

ปัจจุบัน นักลงทุนต่างก็เริ่มหันมาให้ความสนใจต่อ ‘สกุลเงินดิจิทัล’ หรือ ‘คริปโตเคอร์เรนซี่’ กันมากขึ้น ดังนั้น หนึ่งในทักษะสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดคริปโตก็คือ “วิธีดูกราฟคริปโต” ถึงแม้หลายๆ คนอาจจะมองว่าการดูกราฟคริปโตนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและน่าปวดหัว แต่อันที่จริงแล้ว มันไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลย! การทำความเข้าใจในหลักการพื้นฐานและเครื่องมือวิเคราะห์อย่างเหมาะสมจะช่วยให้ทุกคนก็สามารถทำความเข้าใจพฤติกรรมราคาของสกุลเงินดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย

ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปเรียนรู้การวิเคราะห์กราฟคริปโตตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายพร้อมภาพประกอบในทุกๆ หัวข้อ โดยจะเริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักพื้นฐานของกราฟต่างๆ ไปจนถึง เทคนิคการวิเคราะห์ที่นักเทรดมือโปรมักจะใช้งานกัน โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านการเงินหรือการลงทุนมาก่อนเลย เพียงแค่คุณมีความสนใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ คุณก็สามารถก้าวสู่การเป็นนักวิเคราะห์กราฟคริปโตมือฉมังได้

ทำความรู้จักกราฟคริปโตและความสำคัญในการวิเคราะห์กราฟ


กราฟคริปโต (Crypto Chart) เป็นเครื่องมือสำคัญที่นักลงทุนและเทรดเดอร์ใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin, Ethereum หรือเหรียญ Altcoin ต่างๆ โดยกราฟจะแสดงข้อมูลราคาออกมาในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

Crypto Chart

1. กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) เป็นกราฟที่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยจะแสดงข้อมูลราคาเปิด ราคาสูงสุด ราคาต่ำสุด และราคาปิดในช่วงเวลาที่กำหนด

Candlestick Chart

2. กราฟแท่ง (Bar Chart) — เป็นกราฟที่จะแสดงข้อมูลออกมาคล้ายๆ กับกราฟแท่งเทียน เพียงแต่จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป ไม่นิยมใช้เท่ากราฟแท่งเทียน

Bar Chart

3. กราฟเส้น (Line Chart) — เป็นกราฟที่จะใช้แสดงความเคลื่อนไหวของราคาโดยใช้เส้นเชื่อมระหว่างจุดปิดของราคาในแต่ละเซสชั่น นิยมใช้ในการดูข้อมูลที่มีความต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก

Line Chart

ถ้าเราอยากลงทุนในคริปโต (หรือตลาดการเงินใดๆ ก็ตาม) การอ่านกราฟถือเป็นทักษะพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ เพราะสิ่งที่กราฟบอกเราไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องราคาในช่วงเวลานั้น แต่ยังมีข้อมูลอื่นๆ อาทิเช่น ราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุดในแต่ละช่วงเวลา รวมถึง แนวโน้มของราคา ปริมาณการซื้อขาย และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อเราเข้าใจวิธีอ่านกราฟ เราก็จะสามารถตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นว่า ควรซื้อหรือขายตอนไหน? แทนที่จะใช้ความรู้สึกหรือเดาสุ่มแบบที่มือใหม่หลายๆ คนทำกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เสี่ยงมากๆ ในตลาดที่ราคาขึ้นลงแรงอย่างตลาดคริปโต

ทำไมการอ่านกราฟถึงสำคัญ?

  • ช่วยดูทิศทางราคา — เราจะรู้ว่าราคากำลังวิ่งขึ้น วิ่งลง หรือวิ่งเรื่อยๆ ไม่ไปไหน ซึ่งช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าควรจะซื้อหรือขายดี
  • หาจังหวะซื้อขายที่ดี — กราฟจะมีเครื่องมือช่วยหลายอย่าง เช่น เส้นแนวโน้ม หรือ อินดิเคเตอร์ต่างๆ ที่จะช่วยบอกเราได้ว่าช่วงไหนน่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการซื้อหรือขาย
  • ป้องกันความเสี่ยง — การอ่านกราฟจะช่วยให้เรารู้ว่าควรตั้งจุดตัดขาดทุน (Stop Loss) ตรงไหน (จุดที่ถ้าราคาลงมาถึงแล้วควรขายทิ้ง) และ ควรตั้งเป้าหมายกำไรที่ราคาเท่าไหร่ (Take Profit)
  • เตรียมพร้อมรับความผันผวน — กราฟจะช่วยให้เราคาดการณ์ได้ว่าราคาอาจจะมีการเคลื่อนไหวรุนแรงในช่วงไหน ช่วยให้เราจะได้เตรียมใจและเตรียมแผนรับมือไว้เสมอ
  • เข้าใจพฤติกรรมตลาด — ยิ่งดูกราฟบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นรูปแบบที่มักจะเกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น ช่วงเวลาที่ราคามักจะขึ้นหรือลง หรือ ตลาดมักจะตอบสนองต่อข่าวแบบไหน

แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ก็คือ การอ่านกราฟคริปโตเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราจะต้องติดตามข่าวสารและปัจจัยอื่นๆ ด้วย เพราะตลาดคริปโตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนมาก ยิ่งเราศึกษาและฝึกอ่านกราฟบ่อยๆ เพียงใด เราก็จะยิ่งเข้าใจตลาดมากขึ้น และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนมากขึ้นนั่นเอง

วิธีดูกราฟคริปโตสำหรับมือใหม่ พร้อมเทคนิคการอ่านเบื้องต้น


ต่อไป เราลองมาดูวิธีดูกราฟคริปโตแบบง่ายๆ ที่แม้แต่มือใหม่ก็เข้าใจได้กันดีกว่า ในตัวอย่างต่อไปนี้ เราจะใช้กราฟแท่งเทียน ซึ่งเป็นประเภทกราฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และสามารถอ่านได้ง่ายที่สุด เป็นตัวอย่างในการอ่านกราฟของเรา ดังนั้น เราจะต้องมาเรียนรู้วิธีการอ่านกราฟแท่งเทียนกันเสียก่อน

แท่งเทียนขาขึ้น

วิธีการอ่านกราฟแท่งเทียนนั้นไม่ซับซ้อน กราฟแท่งเทียนจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • แท่งเทียนขาขึ้น — จะถูกแสดงผลเป็นแท่งเทียนสีเขียวหรือขาว เป็นตัวแทนของแท่งเทียนที่ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด
  • แท่งเทียนขาลง — จะถูกแสดงผลเป็นแท่งเทียนสีแดงหรือดำ เป็นตัวแทนของแท่งเทียนที่ราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด

องค์ประกอบหลักของแท่งเทียนก็จะถูกแบ่งออกเป็น 4 จุดสำคัญ ได้แก่

  1. ราคาเปิด — จุดเปิดของราคาสินทรัพย์ในเซสชั่นนั้นๆ แสดงผลออกมาเป็นส่วนล่างสุดของตัวแท่งเทียน (ในกรณีที่เป็นแท่งเทียนขาขึ้น) และส่วนบนสุดของตัวแท่งเทียน (ในกรณีที่เป็นแท่งเทียนขาลง)
  2. ราคาปิด — จุดปิดของราคาสินทรัพย์ในเซสชั่นนั้นๆ แสดงผลออกมาเป็นส่วนบนสุดของตัวแท่งเทียน (ในกรณีที่เป็นแท่งเทียนขาขึ้น) และส่วนล่างสุดของตัวแท่งเทียน (ในกรณีที่เป็นแท่งเทียนขาลง)
  3. ราคาสูงสุด — จุดสูงสุดของราคาสินทรัพย์ที่ขึ้นไปถึงในเซสชั่นนั้นๆ แสดงผลออกมาเป็นส่วนบนสุดของไส้เทียน
  4. ราคาต่ำสุด — จุดต่ำสุดของราคาสินทรัพย์ที่ลงไปถึงในเซสชั่นนั้นๆ แสดงผลออกมาเป็นส่วนล่างสุดของไส้เทียน

กราฟแท่งเทียนเปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยบอกข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับราคาในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาเปิด ปิด สูงสุด และต่ำสุด และด้วยการใช้สีที่ต่างกันก็จะช่วยให้เราแยกทิศทางราคาได้ง่าย นอกจากนี้ ขนาดและรูปร่างของแท่งเทียนจะบอกเราว่าตลาดกำลังรู้สึกอย่างไร มีคนซื้อหรือขายเยอะมากแค่ไหน และเรายังสามารถใช้แท่งเทียนร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

อีกหนึ่งพื้นฐานที่สำคัญก็คือการดู “เส้นแนวโน้ม” (Trend Line) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ทิศทางตลาดคริปโต เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มือใหม่สามารถเรียนรู้ได้ง่ายเพราะใช้เพียงแค่การลากเส้นตรงบนกราฟเท่านั้น แต่ถึงจะใช้ได้ง่าย แต่มันก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเห็นโอกาสในการซื้อขายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น บอกได้ว่าช่วงไหนน่าจะเป็นจังหวะดีในการซื้อหรือขาย ดังนั้น เส้นแนวโน้มจึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในการวิเคราะห์ตลาดคริปโต

เส้นแนวโน้มคืออะไร? เส้นแนวโน้มคือเส้นตรงที่เราลากเชื่อมจุดสำคัญบนกราฟ เพื่อดูทิศทางการเคลื่อนไหวของราคา โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1. เส้นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend Line): ลากเส้นเชื่อมจุดต่ำสุดของราคาไปหาจุดต่ำสุดใหม่ที่สูงขึ้น จากซ้ายไปขวาในแนวเฉียงขึ้น เส้นแนวโน้มดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นเสมือนแนวรับเพื่อบ่งบอกว่า หากราคาหลุดแนวรับนี้ไป มีโอกาสที่แนวโน้มจะกลายเป็นขาลง

Uptrend Line

2. เส้นแนวโน้มขาลง (Downtrend Line): ลากเส้นเชื่อมจุดสูงสุดของราคาไปหาจุดสูงสุดใหม่ที่ต่ำลง จากซ้ายไปขวาในแนวเฉียงลง เส้นแนวโน้มนี้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนแนวต้านเพื่อบ่งบอกว่า หากราคาทะลุแนวต้านนี้ขึ้นไปได้ มีโอกาสที่แนวโน้มจะกลายเป็นขาขึ้นได้

Downtrend Line

3. เส้นแนวโน้มแนวราบ (Sideways Line): ลากเส้นขนานกับแนวนอนเมื่อราคามีการเคลื่อนที่ในกรอบแคบๆ เส้นแนวโน้มนี้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนแนวต้าน/แนวรับของราคาทั้ง 2 ฝั่ง หากราคาหลุดเส้นแนวโน้มฝั่งไหนไปได้ ก็มีโอกาสที่ราคาจะเคลื่อนที่ต่อไปในทิศทางดังกล่าว

Sideways Line

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว แนวรับ/แนวต้าน ที่พูดถึงคืออะไรกันหล่ะ?

แนวรับ (Support Level)

  • เป็นระดับราคาที่มักจะมีแรงซื้อเข้ามาหนาแน่น ทำให้ราคามักจะไม่หลุดลงไปต่ำกว่าระดับนี้
  • เปรียบเสมือน “พื้น” ที่รองรับราคาไว้
  • เมื่อราคาลงมาถึงแนวรับ นักลงทุนมักจะเข้าซื้อเพราะมองว่าราคาถูกพอที่จะลงทุน
  • ถ้าราคาหลุดแนวรับลงมา อาจจะเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มกำลังเปลี่ยนเป็นขาลง
  • เมื่อราคาหลุดแนวรับลงมา แนวรับเดิมมักจะกลายเป็นแนวต้านใหม่

แนวต้าน (Resistance Level)

  • เป็นระดับราคาที่มักจะมีแรงขายออกมามาก ทำให้ราคามักจะไม่ผ่านขึ้นไปเหนือระดับนี้
  • เปรียบเสมือน “เพดาน” ที่กั้นราคาไว้
  • เมื่อราคาขึ้นมาถึงแนวต้าน นักลงทุนมักจะเริ่มขายทำกำไรเพราะมองว่าราคาสูงพอที่จะทำกำไรได้แล้ว
  • ถ้าราคาทะลุแนวต้านขึ้นไป อาจจะเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มกำลังเปลี่ยนเป็นขาขึ้น
  • เมื่อราคาทะลุแนวต้านขึ้นไป แนวต้านเดิมมักจะกลายเป็นแนวรับใหม่

ตัวอย่างการใช้งาน: สมมติว่า Bitcoin มีแนวรับที่ 95,000 ดอลลาร์ และแนวต้านที่ 100,000 ดอลลาร์

  • ถ้าราคาลงมาที่ 95,000 ดอลลาร์ นักลงทุนอาจจะพิจารณาเข้าซื้อ เพราะเป็นจุดที่ราคามักจะดีดตัวกลับ
  • ถ้าราคาขึ้นไปที่ 100,000 ดอลลาร์ นักลงทุนอาจจะเริ่มขายทำกำไร เพราะเป็นจุดที่ราคามักจะย่อตัวลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มือใหม่ต้องระวังก็คือ แนวรับและแนวต้านไม่ใช่จุดที่ตายตัวและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะตลาด ดังนั้น เราจึงควรใช้มันร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่นๆ เพื่อช่วยในการยืนยันสัญญาณ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง เนื่องจากแนวรับและแนวต้านอาจจะไม่ชัดเจนหรือใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

รูปแบบกราฟคริปโตและเครื่องมือวิเคราะห์ที่สำคัญ


หนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการวิเคราะห์ทางเทคนิคในตลาดคริปโตก็คือการศึกษารูปแบบกราฟคริปโตที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มราคาในอนาคต โดยมีรูปแบบกราฟที่นิยมใช้งานหรือพบเจอได้บ่อยๆ ดังต่อไปนี้

1. รูปแบบ Head & Shoulders

รูปแบบ Head & Shoulders เกิดขึ้นเมื่อราคาเคลื่อนที่ขึ้นลงคล้ายกับรูปร่างของคน โดยมีส่วนประกอบ 3 ส่วน: ไหล่ซ้าย ศีรษะ และไหล่ขวา ราคาจะวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดครั้งแรกเป็นไหล่ซ้าย จากนั้นลงมาพักตัวเล็กน้อย แล้ววิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่เป็นส่วนศีรษะ หลังจากนั้นราคาจะลงมาพักและขึ้นไปอีกครั้งเป็นไหล่ขวาที่ระดับใกล้เคียงกับไหล่ซ้าย โดยจุดต่ำสุดระหว่าง 3 ทั้งสามจะเชื่อมกันด้วยเส้นที่เรียกว่า Neckline

Head & Shoulders

รูปแบบนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าราคากำลังจะเปลี่ยนทิศทางจากขาขึ้นเป็นขาลง (Bearish Reversal Pattern) เหมือนกับตอนที่เราวิ่งขึ้นเขาแล้วเริ่มเหนื่อย แม้จะพยายามไปต่อแต่ก็ไปได้ไม่ไกลเท่าเดิม จนสุดท้ายต้องถอยลงมา ในกราฟก็เช่นกัน แม้ราคาจะพยายามขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ส่วนศีรษะ แต่พอขึ้นมาอีกครั้งก็ทำได้แค่ระดับเดิม แสดงว่าแรงซื้อเริ่มอ่อนแรงลง

นักเทรดมักใช้รูปแบบนี้ในการหาจังหวะขาย โดยจะรอให้ราคาหลุดลงมาต่ำกว่าเส้น Neckline พร้อมกับมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น เพราะจุดนี้มักจะมีคนทยอยขายออกมาเยอะ เราสามารถคาดเดาได้ว่าราคาจะลงไปไกลแค่ไหน โดยดูจากระยะระหว่างจุดสูงสุดของศีรษะถึงเส้น Neckline หลังจากราคาหลุดลงมา มันมักจะลงไปอีกเป็นระยะเท่าๆ กัน แต่ถ้าราคาดันกลับขึ้นไปเหนือเส้น Neckline อีก ก็ควรรีบตัดขาดทุนเพราะอาจจะเป็นสัญญาณหลอกได้

หมายเหตุสำหรับรูปแบบ Inverse Head & Shoulders นั้นก็จะทำงานในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่กลับด้านเท่านั้น และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มจากขาลงเป็นขาขึ้น (Bullish Reversal Pattern) แทน

2. รูปแบบ Double Top & Double Bottom

รูปแบบ Double Top จะเกิดขึ้นเมื่อราคาสินทรัพย์พยายามจะขึ้นไปทดสอบระดับราคาสูงสุดเดิม 2 ครั้งแต่ไม่สามารถผ่านไปได้ โดยจะมีจุดยอด 2 จุดที่ระดับราคาใกล้เคียงกัน และมีจุดต่ำสุดอยู่ตรงกลาง ในขณะที่รูปแบบ Double Bottom จะมีลักษณะตรงกันข้าม คือมีจุดต่ำสุด 2 จุดที่ระดับราคาใกล้เคียงกัน และมีจุดสูงสุดอยู่ตรงกลาง

Double Top & Double Bottom

รูปแบบ Double Top เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มจากขาขึ้นเป็นขาลง เปรียบเหมือนกับสัญญาณไฟแดงที่บอกว่า “ระวังนะ ราคาอาจจะลงแล้ว” เพราะคนซื้อเริ่มเหนื่อยและไม่มีแรงดันราคาขึ้นไปได้อีก ส่วน Double Bottom เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มจากขาลงเป็นขาขึ้น เหมือนสัญญาณไฟเขียวที่บอกว่า “เตรียมตัว ราคาอาจจะขึ้นแล้ว” เพราะคนขายเริ่มหมดแรงและไม่สามารถกดราคาให้ต่ำลงไปกว่านี้ได้อีกแล้ว

นักเทรดสามารถใช้รูปแบบนี้ในการวางแผนการซื้อขาย โดยเมื่อเห็น Double Top เราก็อาจจะพิจารณาเพื่อขายทำกำไรหรือเปิดสถานะขาย (Short) เมื่อราคาหลุดแนวรับสำคัญ และตั้ง Stop Loss ไว้เหนือจุดสูงสุดของรูปแบบ ส่วนเมื่อเห็น Double Bottom ก็อาจจะพิจารณาซื้อเมื่อราคาผ่านแนวต้านสำคัญ และตั้ง Stop Loss ไว้ใต้จุดต่ำสุดของรูปแบบได้

3. รูปแบบ Flag

Flag Pattern จะมีลักษณะเด่น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการเคลื่อนที่ของราคาขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วในแนวตรง (Flag Pole) จากนั้นจะเกิดการพักตัวเป็นส่วนที่สอง โดยการพักตัวนี้จะอยู่ในกรอบแคบๆ และมีทิศทางสวนกับการเคลื่อนที่ส่วนแรก เช่น ถ้าราคาวิ่งขึ้นตรงๆ กรอบพักตัวจะเอียงลง หรือถ้าราคาวิ่งลงตรงๆ กรอบพักตัวจะเอียงขึ้น

Flag

Flag Pattern เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการพักตัวชั่วคราวของราคา โดยการพักตัวนี้เป็นเพียงการชะลอความเร็วของราคา ไม่ใช่การเปลี่ยนทิศทางของแนวโน้มหลัก เมื่อการพักตัวสิ้นสุดลง ราคามักจะเคลื่อนที่ต่อในทิศทางเดิมด้วยโมเมนตัมที่ใกล้เคียงกับก่อนการพักตัว

นักลงทุนสามารถใช้ Flag Pattern ในการวางแผนการเข้าซื้อขายได้ โดยรอให้ราคาหลุดออกจากกรอบ Flag ในทิศทางของแนวโน้มหลักก่อนเข้าเทรด เป้าหมายของการเคลื่อนที่มักจะมีระยะใกล้เคียงกับความยาวของ Flag Pole และควรตั้งจุดตัดขาดทุนไว้ที่อีกด้านของกรอบ Flag เพื่อจำกัดความเสี่ยง

4. รูปแบบ Pennant

Pennant Pattern จะคล้ายกับ Flag Pattern ตรงที่เริ่มต้นด้วยการเคลื่อนที่ของราคาอย่างรวดเร็วในแนวตรง แต่ส่วนที่แตกต่างคือช่วงพักตัว โดย Pennant จะมีการพักตัวในรูปแบบสามเหลี่ยมที่มีฐานอยู่ทางซ้ายและแหลมไปทางขวา เกิดจากการที่แนวต้านและแนวรับเข้ามาบีบตัวเข้าหากัน ต่างจาก Flag Pattern ที่มีการพักตัวในกรอบขนานและเอียงตัวสวนทางกับทิศทางหลัก

Pennant

Pennant Pattern เป็นสัญญาณที่บอกว่าราคากำลังหยุดพักชั่วคราว โดยการบีบตัวของราคาในรูปแบบสามเหลี่ยมบ่งบอกว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายกำลังลังเลและรอดูทิศทาง ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาแคบลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะเคลื่อนที่ต่อในทิศทางใด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนที่ต่อในทิศทางเดิม

นักเทรดสามารถใช้ประโยชน์จากรูปแบบนี้ได้ด้วยการรอให้ราคาหลุดออกจากกรอบสามเหลี่ยมในทิศทางของแนวโน้มหลักเสียก่อน จากนั้นให้ตั้งเป้าหมายกำไรเท่ากับระยะทางของการวิ่งในช่วงแรก และควรตั้งจุดตัดขาดทุนไว้ที่อีกด้านของกรอบสามเหลี่ยม หากราคาเคลื่อนที่ผิดทิศทางเกินจุดนี้ แสดงว่ารูปแบบไม่สมบูรณ์และควรออกจากการเทรด

หมายเหตุอีกหนึ่งรูปแบบที่มีความคล้ายคลึงกับ Pennant Pattern ก็คือ Triangle Pattern ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการก่อตัวของรูปแบบ เพียงแต่รูปแบบสามเหลี่ยมนั้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่นานกว่า และสามารถเป็นได้ทั้งการต่อเนื่องของรูปแบบและการกลับตัวของรูปแบบ ในขณะที่ Pennant Pattern มักจะเป็นการต่อเนื่องของรูปแบบเท่านั้น

5. รูปแบบ Wedge

Wedge Pattern มีลักษณะเป็นรูปลิ่มที่เกิดจากการลากเส้นแนวต้านและแนวรับที่เอียงไปในทิศทางเดียวกัน โดยแบ่งเป็น 2 แบบคือ Rising Wedge ที่เส้นทั้ง 2 เอียงขึ้นแต่เส้นแนวรับชันกว่า และ Falling Wedge ที่เส้นทั้ง 2 เอียงลงแต่เส้นแนวต้านชันกว่า ทำให้พื้นที่ระหว่างเส้นทั้ง 2 แคบลงเรื่อยๆ รูปแบบนี้มักใช้เวลาในการก่อตัวนานกว่า Flag หรือ Pennant

Wedge

รูปแบบ Wedge บอกให้รู้ว่าราคากำลังจะเปลี่ยนทิศทาง เมื่อเห็น Rising Wedge ราคามักจะลงหลังจากหลุดกรอบด้านล่าง และเมื่อเห็น Falling Wedge ราคามักจะขึ้นหลังจากหลุดกรอบด้านบน โดยราคามักจะเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วหลังจากหลุดกรอบ เพราะมีการสะสมแรงไว้ในช่วงที่ราคาถูกบีบให้แคบลง

วิธีใช้งานรูปแบบ Wedge ก็คือการรอให้ราคาหลุดออกจากกรอบ Wedge ก่อนเข้าเทรด โดยเมื่อเห็น Rising Wedge ให้เตรียมขายเมื่อราคาหลุดแนวรับลงมา และตั้งจุดตัดขาดทุนไว้เหนือแนวต้าน และเมื่อเห็น Falling Wedge ให้เตรียมซื้อเมื่อราคาหลุดแนวต้านขึ้นไป และตั้งจุดตัดขาดทุนไว้ใต้แนวรับ ดยราคามักจะเคลื่อนที่ไปเท่ากับความกว้างที่สุดของรูปแบบ Wedge นั้นๆ

และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การศึกษารูปแบบกราฟคริปโตก็คือเครื่องมือหรืออินดิเคเตอร์ที่นักเทรดสามารถใช้ร่วมกับการวิเคราะห์กราฟเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการคาดการความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยจะมีเครื่องมือที่นิยมใช้ดังต่อไปนี้

1. Moving Average (MA) — เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่

ตัวอย่างการใช้งานอินดิเคเตอร์ Moving Average จาก investopedia

Moving Average (MA)

Moving Average (MA) เป็นหนึ่งในอินดิเคเตอร์ทางเทคนิคที่นิยมใช้มากที่สุดในการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ โดยคำนวณจากราคาเฉลี่ยในช่วงเวลาที่เราสนใจ เช่น ราคาเฉลี่ย 10 วัน หรือ 20 วัน เพื่อให้เห็นภาพรวมของราคาได้ชัดเจนขึ้น เหมือนกับการกรองสัญญาณรบกวนออกไป ถ้าเราใช้ค่าเฉลี่ยระยะสั้น เช่น 10 วัน มันจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่า เหมาะกับคนที่ซื้อขายเร็วๆ ส่วนค่าเฉลี่ยระยะยาว เช่น 200 วัน จะเหมาะกับการดูแนวโน้มใหญ่ๆ ของตลาด นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะดูจุดที่เส้นค่าเฉลี่ย 2 เส้นตัดกันเป็นสัญญาณในการซื้อขาย เช่น ถ้าเส้นระยะสั้นวิ่งตัดขึ้นเหนือเส้นระยะที่ยาวกว่า นั่นอาจจะเป็นจังหวะดีที่จะซื้อ แต่ถ้าตัดลงไปใต้เส้นระยะยาว ก็อาจจะเป็นสัญญาณให้ขายออก

  • ลักษณะ: เป็นเส้นแสดงค่าเฉลี่ยของราคาย้อนหลังในช่วงเวลาหนึ่ง (เช่น 50, 100, 200 วัน)
  • การใช้งาน:
  • ใช้ระบุแนวโน้มของตลาด (ขาขึ้นหรือขาลง)
  • Golden Cross (MA ระยะสั้นตัดขึ้น MA ระยะยาว) → สัญญาณซื้อ
  • Death Cross (MA ระยะสั้นตัดลง MA ระยะยาว) → สัญญาณขาย

2. Relative Strength Index (RSI) —- ดัชนีวัดแรงซื้อแรงขาย

ตัวอย่างการใช้งานอินดิเคเตอร์ Relative Strength Index จาก britannica

Relative Strength Index (RSI)

Relative Strength Index (RSI) เป็นอีกหนึ่งในอินดิเคเตอร์ยอดนิยมที่จะช่วยบอกเราได้ว่าราคาวิ่งขึ้นหรือลงแรงเกินไปหรือไม่ โดยคำนวณจากความเร็วและขนาดของการเปลี่ยนแปลงราคา ค่า RSI จะอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100 โดยทั่วไปถ้าค่า RSI สูงกว่า 70 จะถือว่าราคาอยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) อาจจะมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวลง และถ้าค่า RSI ต่ำกว่า 30 จะถือว่าราคาอยู่ในภาวะขายมากเกินไป (Oversold) อาจจะมีโอกาสที่ราคาจะฟื้นตัวขึ้น นักลงทุนมักจะใช้ RSI ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่นๆ เพื่อยืนยันสัญญาณการซื้อขาย เช่น การดูการแกว่งตัวของราคาที่ไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ RSI (Divergence) ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคาในอนาคต

  • ลักษณะ: เป็นอินดิเคเตอร์ที่วัดโมเมนตัมของราคา โดยมีค่าระหว่าง 0-100
  • การใช้งาน:
  • RSI > 70 → สภาวะ Overbought (มีแรงซื้อมากเกินไป อาจจะเกิดการปรับฐาน)
  • RSI Oversold (มีแรงขายมากเกินไป อาจจะเกิดการรีบาวด์)
  • ใช้ร่วมกับ Divergence (ถ้าราคาไปทางหนึ่ง แต่ RSI ไปอีกทาง อาจจะเป็นสัญญาณกลับตัว)

3. Fibonacci Retracement — เครื่องมือวิเคราะห์แนวรับแนวต้าน

ตัวอย่างการใช้งานอินดิเคเตอร์ Fibonacci Retracement จาก investopedia

Fibonacci Retracement

Fibonacci Retracement เป็นเครื่องมือทางเทคนิคที่ใช้หาจุดที่ราคาอาจจะย่อตัวหรือกลับตัว โดยใช้อัตราส่วนของฟิโบนัชชี (23.6%, 38.2%, 50%, 61.8%) มาลากเส้นระดับราคาระหว่างจุดสูงสุดและต่ำสุดที่เราสนใจ เส้นเหล่านี้มักจะเป็นแนวรับแนวต้านที่ราคามักจะสนใจ เช่น ในขาขึ้น เมื่อราคาย่อตัวลงมา มันมักจะหยุดที่ระดับ 38.2% หรือ 50% ของการขึ้นทั้งหมด และอาจจะดีดกลับขึ้นไปอีกครั้ง หรือในขาลง เมื่อราคาดีดตัวขึ้น มันก็มักจะหยุดที่ระดับเหล่านี้เช่นกัน นักเทรดจึงใช้จุดเหล่านี้เป็นจุดสังเกตในการเข้าซื้อขาย แต่ก็มักจะดูสัญญาณจากเครื่องมืออื่นๆ ประกอบด้วย เพื่อให้ได้สัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น

  • ลักษณะ: เป็นอินดิเคเตอร์ที่ใช้หาจุดแนวรับ (Support) และแนวต้าน (Resistance) โดยใช้สัดส่วนตัวเลข Fibonacci
  • การใช้งาน:
  • ลากเส้นจากจุดสูงสุดไปจุดต่ำสุด (ขาลง) หรือจากจุดต่ำสุดไปจุดสูงสุด (ขาขึ้น)
  • ระดับสำคัญ: 23.6%, 38.2%, 50%, 61.8%, 78.6%
  • หากราคาปรับฐานและดีดตัวขึ้นจาก 38.2%, 50%, หรือ 61.8% → อาจจะเป็นแนวรับที่ดีสำหรับการเข้าซื้อ
  • หากราคาชนแนว 38.2% หรือ 61.8% แล้วกลับตัวลง → อาจจะเป็นแนวต้านที่ดีสำหรับการขาย

4. Trading Volume — ปริมาณการซื้อขาย

ตัวอย่างการใช้งานอินดิเคเตอร์ Trading Volume จาก Investing.com

Trading Volume

Trading Volume เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญในการวิเคราะห์กราฟคริปโต โดยแสดงให้เห็นปริมาณการซื้อขายในแต่ละช่วงเวลา เปรียบเสมือนแรงสนับสนุนเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของราคา ถ้าราคาขึ้นพร้อมกับ Volume สูง แสดงว่ามีแรงซื้อที่หนักแน่น การขึ้นนั้นน่าเชื่อถือ แต่ถ้าราคาขึ้นแต่ Volume ต่ำ อาจจะเป็นการขึ้นที่ไม่มีเรี่ยวแรงมากนัก มีโอกาสที่จะย่อตัวลงมาได้ง่าย ในทางกลับกัน ถ้าราคาลงพร้อม Volume สูง แสดงว่ามีแรงขายหนัก การลงนั้นรุนแรง แต่ถ้าราคาลงแต่ Volume ต่ำ อาจเป็นเพียงการพักตัวชั่วคราว นักลงทุนจึงมักใช้ Volume ประกอบการตัดสินใจว่าการเคลื่อนไหวของราคานั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

  • ลักษณะ: ใช้ดูว่ามีการซื้อขายมากน้อยแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลา
  • การใช้งาน:
  • Volume สูงพร้อมราคาขึ้น → แนวโน้มขาขึ้นแข็งแกร่ง
  • Volume สูงพร้อมราคาลง → แนวโน้มขาลงแข็งแกร่ง
  • Volume ต่ำ → อาจจะบ่งบอกถึงการหมดแรงของแนวโน้ม

5. Bollinger Bands — วัดความผันผวนของราคา

ตัวอย่างการใช้งานอินดิเคเตอร์ Bollinger Bands จาก fidelity

Bollinger Bands

Bollinger Bands เป็นเครื่องมือที่แสดงการเคลื่อนไหวของราคาในรูปแบบแถบราคา ประกอบด้วยเส้น 3 เส้น คือ เส้นกลางที่เป็นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (มักใช้ 20 วัน) และเส้นบนกับเส้นล่างที่อยู่ห่างจากเส้นกลางด้วยระยะ 2 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เส้นบนและเส้นล่างจะขยับขยายหรือหดตัวตามความผันผวนของราคา เมื่อราคาเคลื่อนที่ใกล้หรือทะลุแถบบน อาจจะหมายถึงภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) และเมื่อราคาเคลื่อนที่ใกล้หรือทะลุแถบล่าง อาจจะหมายถึงภาวะขายมากเกินไป (Oversold) นอกจากนี้ เมื่อแถบราคาหดตัวแคบลงมากๆ (Squeeze) มักจะเป็นสัญญาณว่ากำลังจะเกิดการเคลื่อนไหวของราคาอย่างรุนแรง นักเทรดจึงใช้ Bollinger Bands ในการคาดการณ์จังหวะการซื้อขายและประเมินความผันผวนของตลาด

  • ลักษณะ: ประกอบด้วยเส้นค่าเฉลี่ย (Middle Band) และเส้นขอบบน-ล่าง (Upper & Lower Bands)
  • การใช้งาน:
  • ราคาเข้าใกล้เส้นขอบบน → อาจจะเกิดภาวะ Overbought
  • ราคาเข้าใกล้เส้นขอบล่าง → อาจจะเกิดภาวะ Oversold
  • Bollinger Squeeze (เส้นแคบลง) → สัญญาณว่าราคากำลังจะมีความผันผวนสูง

องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เหล่านักลงทุนสามารถใช้เพื่อวิเคราะห์ราคาสินทรัพย์ เพื่อที่จะเทรดทำกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เราจะดูกราฟราคาคริปโตได้ที่ไหน? หรือจะใช้อินดิเคเตอร์เหล่านี้ได้อย่างไร? ในหัวข้อถัดไป เราจะมาแนะนำเว็บดูกราฟคริปโตยอดนิยม พร้อมวิธีการใช้งานกัน

การวิเคราะห์เหรียญคริปโตจากกราฟปัจจุบัน


แน่นอนว่าการที่เราจะสามารถวิเคราะห์เหรียญคริปโตจากกราฟปัจจุบันได้ เราจำเป็นที่จะต้องมีโปรแกรมหรือเครื่องมือที่เข้าถึงตลาดคริปโตได้เสียก่อน และหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดรายหนึ่งก็คือ TradingView ซึ่งเป็นเว็บดูกราฟคริปโตที่นักลงทุนนิยมใช้งาน เนื่องจากใช้งานได้ง่าย สามารถใช้งานได้ผ่านหลายๆ แพลตฟอร์ม และสามารถปรับแต่งเครื่องมือได้หลากหลายอีกด้วย ทั้งแบบการใช้งานฟรี หรือชำระเงินเพื่อเข้าถึงเครื่องมือขั้นสูงอื่นๆ เพิ่มเติม

การวิเคราะห์เหรียญคริปโตจากกราฟปัจจุบัน

TradingView เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการข้อมูลการลงทุนในรูปแบบกราฟและเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ครบครัน ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น พันธบัตรรัฐบาล ฟอเร็กซ์ และคริปโตเคอร์เรนซี

การใช้งานหลักของ TradingView:

  • การวิเคราะห์กราฟ: มีเครื่องมือวาดกราฟและอินดิเคเตอร์มากกว่า 100 ชนิด ช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์แนวโน้มราคาได้อย่างละเอียด
  • การสร้างและปรับแต่งอินดิเคเตอร์: นักลงทุนสามารถเขียนสคริปต์ด้วยภาษา Pine Script เพื่อสร้างอินดิเคเตอร์หรือกลยุทธ์การเทรดเฉพาะตัว
  • การแชร์ไอเดียและคอมมูนิตี้: มีชุมชนนักลงทุนที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แชร์ไอเดียการลงทุน และเรียนรู้จากผู้อื่นได้

ข้อดีของ TradingView:

  • ข้อมูลเรียลไทม์: แสดงข้อมูลราคาและการซื้อขายแบบเรียลไทม์ ช่วยให้นักลงทุนติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดได้ทันที
  • การใช้งานที่ง่ายดาย: อินเทอร์เฟซถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย แม้ผู้เริ่มต้นก็สามารถเรียนรู้และใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
  • รองรับหลายอุปกรณ์: สามารถใช้งานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บเบราเซอร์และอุปกรณ์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน
  • การแจ้งเตือนราคา: ตั้งค่าการแจ้งเตือนเมื่อราคาสินทรัพย์ถึงระดับที่กำหนด ช่วยให้นักลงทุนไม่พลาดโอกาสในการซื้อขาย

การใช้งานเว็บไซต์ TradingView เพื่อทำการวิเคราะห์หรือดูกราฟคริปโตเคอร์เรนซีสามารถทำได้ดังนี้:

1. เข้าสู่ระบบ TradingView:

  • ไปที่เว็บไซต์ TradingView และเข้าสู่ระบบด้วยบัญชีผู้ใช้ของคุณ หากยังไม่มีบัญชี สามารถสมัครได้ฟรี

2. ค้นหาเหรียญคริปโตที่ต้องการวิเคราะห์:

  • ค้นหาหรือพิมพ์ชื่อ/สัญลักษณ์ของเหรียญคริปโตที่คุณสนใจ เช่น Bitcoin (BTC) หรือ Ethereum (ETH) ในแถบค้นหาที่มุมบนซ้าย แล้วเลือกคู่การซื้อขายที่ต้องการ เช่น BTC/USD หรือ ETH/USDT

3. ปรับแต่งกราฟราคา:

  • เลือกประเภทกราฟ: TradingView มีประเภทกราฟหลากหลาย เช่น กราฟแท่งเทียน (Candlestick), กราฟเส้น (Line), กราฟแท่ง (Bar) เป็นต้น คุณสามารถเลือกประเภทกราฟที่เหมาะสมกับการวิเคราะห์ของคุณ
  • ตั้งค่าช่วงเวลา (Timeframe): เลือกช่วงเวลาที่ต้องการวิเคราะห์ เช่น 1 นาที, 5 นาที, 1 ชั่วโมง, หรือ 1 วัน โดยคลิกที่เมนูช่วงเวลาที่อยู่ด้านบนของกราฟ

4. ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค:

  • เพิ่มอินดิเคเตอร์ (Indicators): คลิกที่ปุ่ม “Indicators” ที่ด้านบนของกราฟ แล้วค้นหาอินดิเคเตอร์ที่ต้องการ เช่น Moving Average (MA), Relative Strength Index (RSI), หรือ MACD
  • วาดเส้นแนวโน้ม (Trend Lines): ใช้เครื่องมือวาดเส้นที่อยู่ด้านซ้ายของกราฟ เพื่อวาดเส้นแนวรับ (Support) และแนวต้าน (Resistance)
  • ใช้เครื่องมืออื่น ๆ: เช่น Fibonacci Retracement, รูปแบบกราฟ (Chart Patterns) และอื่น ๆ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์

5. บันทึกและแชร์การวิเคราะห์:

  • หลังจากที่คุณปรับแต่งกราฟและวิเคราะห์เสร็จสิ้น คุณสามารถบันทึกการตั้งค่าของคุณโดยคลิกที่ปุ่ม “Save” ที่มุมบนขวา
  • หากต้องการแชร์การวิเคราะห์ของคุณกับชุมชน TradingView หรือเพื่อน ๆ คุณสามารถคลิกที่ปุ่ม “Publish” เพื่อเผยแพร่ไอเดียของคุณ

บทส่งท้าย


การเรียนรู้วิธีดูกราฟคริปโตถือเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ แม้ว่าในตอนแรกอาจดูเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่เมื่อเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นกราฟแท่งเทียน เส้นแนวโน้ม แนวรับแนวต้าน รูปแบบกราฟต่างๆ รวมถึงการใช้อินดิเคเตอร์ยอดนิยมอย่าง Moving Average, RSI, Fibonacci Retracement, Volume และ Bollinger Bands แล้ว ก็จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ทิศทางของราคาได้แม่นยำมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลงทุนเท่านั้น เราควรศึกษาปัจจัยพื้นฐาน ติดตามข่าวสาร และพัฒนาทักษะการบริหารความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย เพราะตลาดคริปโตมีความผันผวนสูง การตัดสินใจลงทุนจึงควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้าน ไม่ใช่เพียงแค่การดูกราฟอย่างเดียว และที่สำคัญที่สุด การฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เราพัฒนาความสามารถในการอ่านและวิเคราะห์กราฟได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่โอกาสในการประสบความสำเร็จในการลงทุนในระยะยาวได้

Crypto News in numbers
editors
Authors List + 66 More
2M+
มีผู้ใช้งานรายเดือนทั่วโลกมากกว่า
250+
มีบทความรีวิวและคู่มือมากกว่า
8 ปี
อยู่ในตลาดมาแล้ว
70 คน
มีทีมงานนักเขียนนานาชาติกว่า